วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

นวัตกรรม "เสื้อไม่อาย" ส่งเสริมตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

      

นวัตกรรม "เสื้อไม่อาย" ส่งเสริมตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม





มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะพยาบาลศาสตร์ คิดค้น “เสื้อไม่อาย” นวัตกรรมช่วยลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่างของหญิงไทย ในขณะเข้ารับการตรวจรังสีเต้านม (Mammogram) โดยนวัตกรรมเสื้อดังกล่าวจะเอื้อให้เจ้าหน้าที่รังสีสามารถจัดตำแหน่งเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจทีละข้างได้ โดยที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเผยผิวหนังและร่างกายส่วนอื่นๆ อาทิ แผ่นหลัง หน้าท้อง รักแร้ ในขณะที่การตรวจรังสีเต้านมโดยทั่วไป ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องถอดเสื้อเปลือยร่างกายส่วนบนทั้งหมด



ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม

ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงไทยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่มีมากราว 8,000 คนต่อปี และช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกันกลับพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 18 ปี 
ดังนั้น ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ คนที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว และคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสี ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เพื่อค้นหาความผิดปกติของเนื้อเยื่ออันเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งในกรณีที่พบความผิดปกติดังกล่าวจึงควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อค้นหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่แม่นย้ำมากขึ้น
ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมนั้นผู้เข้ารับการตรวจจะต้องถอดเสื้อพร้อมเปิดเผยร่างกายส่วนบน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการจัดตำแหน่งเต้านมให้เหมาะสมกับการฉายรังสี โดยต้องตรวจทีละข้างและใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 30 - 60 นาที ซึ่งการเปลือยร่างกายส่วนบนเป็นเวลานานต่อหน้าบุคคลที่ไม่รู้จักนั้น อาจทำให้สตรีที่เข้ารับการตรวจรู้สึกอาย ด้วยขาดความมั่นใจในผิวหนังหรือเรือนร่างของตนเอง ตลอดจนอาจส่งผลให้ไม่อยากกลับมาตรวจซ้ำ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จึงได้พัฒนานวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” ขึ้นเพื่อลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่าง และสนับสนุนให้หญิงไทยเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมกันมากขึ้น
ผศ.จิณพิชญ์ชา กล่าวต่อว่า นวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” เป็นเสื้อสำหรับใส่ตรวจรังสีเต้านมที่จะเปิดเผยร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจ เฉพาะบริเวณเต้านมที่จะต้องเอ็กซ์เรย์เท่านั้น โดยนวัตกรรมเสื้อดังกล่าวถูกตัดเย็บให้มีช่องสี่เหลี่ยมขนาด 15 x 15 เซนติเมตร จำนวน 2 ช่อง ครอบบริเวณเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจ โดยในแต่ละช่องจะมีผ้าคลุมเย็บกระดุมติดอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถปลดกระดุมให้เจ้าหน้าที่รังสีจัดตำแหน่งเต้านมทีละข้างได้ โดยไม่ต้องเผยผิวหนังและร่างกายส่วนอื่นๆ อาทิ แผ่นหลัง หน้าท้อง รักแร้ อันจะเป็นการช่วยลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่างได้
นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้รับการดัดแปลงมาจากเสื้อยืดแบบผ้าคอตตอน ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่ในขณะเข้าเอ็กซ์เรย์รังสี อีกทั้งยังมีหลากหลายขนาด เพื่อรองรับการสรีระของผู้เข้ารับการตรวจที่แตกต่างกัน

อ้างอิงจาก https://www.hfocus.org/content/2017/03/13615




นวัตกรรม : ปฏิทินความรู้แบบพกพา เพื่อค้นหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง หน่วยงาน : โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวสำโรง 
ความเป็นมาจากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของสตรีรองจากมะเร็งปากมดลูกและมีแนวโน้มที่จะพบมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับ1ของมะเร็งในสตรีไทย โดยพบประมาณปีละ 4,000 รายอัตราการตายเป็นมะเร็งเต้านม พบมากขึ้นเรื่อยๆประมาณ 1 ใน 10 ของหญิงมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็ง เต้านมในช่วงของชีวิตโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่สามารถดูแลรักษาให้หายขาดได้ ถ้าพบในระยะแรกของการป่วย และถ้าประชาชนสตรีได้รู้จักวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองและมีทักษะการตรวจเต้านมได้อย่างถูกต้องมีพฤติกรรมการดูแลตนเอง ตรวจเต้านมตนเองทุกเดือน เพี่อค้นหาความผิดปกติของเต้านม ก็จะเป็นการลดความรุนแรงและ อัตราการตายจากมะเร็งเต้านมลงได้ จากผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2557 ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวสำโรง พบว่าสตรีอายุ 30-60ปีได้รับความรู้ในการตรวจเต้านมร้อยละ 85 และสตรีอายุ 30-60ปีผ่าน การประเมินทักษะการตรวจเต้านมได้อย่างถูกต้องร้อยละ 70 ซึ่งยังไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรทั้งหมด ทางโรงพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหัวสำโรง จึงได้จัดทำนวัตกรรมปฏิทินแบบพกพา เพื่อค้นหามะเร็งเต้านมด้วยตนเองขึ้น โดยเป็นการให้ความรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ให้ครอบคลุมกลุ่มประชากร สตรีอายุ30-60 ปี โดยจะมีการสอนการตรวจเต้านมให้สตรีกลุ่มเป้าหมายและอสม.มีการแจกแผ่นความรู้มะเร็งเต้านมแบบพกพาให้กับสตรีที่ต้องทำงานนอกบ้านและที่ทำงานเป็นช่วงเวลาให้มีความรู้และมีพฤติกรรมในการเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง โดยอาศัยแผ่นตรวจตรวจเต้านมแบบพกพา ช่วยให้การตรวจเต้านมให้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายขึ้น และเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมทำให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเกิดความมั่นใจตรวจเต้านมได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ไม่เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความรู้เรื่องการทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และครอบคลุมกลุ่มประชากรทุกคนที่ทำงานนอกบ้านได้รับความรู้ และถ้ามีการตรวจพบอาการผิดปกติในระยะ เริ่มแรกได้จะสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคได้เร็ว ลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้ มีผลดีต่อภาวะสุขภาพชีวิตที่ดี และส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจสังคมของประเทศชาติในอนาคตได้
วัตถุประสงค์
 1. เพื่อให้สตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ 30-60 ปี ที่ทำงานนอกบ้านและที่ทำงานเป็นช่วงเวลาทุกคนสามารถ ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ถูกต้องและง่ายขึ้น 
2. เพื่อค้นหาโรคมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกให้ได้รับการรักษาต่อเนื่องและทันเวลาลดอัตราการเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็งเต้านม
อ้างอิงจาก  gishealth.moph.go.th/healthmap/upload/.pdf

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง



ข้อมูลเบื้องต้น  (General Information)
โรคมะเร็ง (Cancer) พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า
โรคมะเร็งที่พบบ่อยของชายไทย เรียงจากลำดับแรก 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็ง ตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว กระเพาะปัสสาวะ ช่องปาก กระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร
โรคมะเร็งพบบ่อยของหญิงไทย เรียงจากลำดับแรก 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม ปากมดลูก ตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ รังไข่ เม็ดเลือดขาว ช่องปาก ต่อมไทรอยด์ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งพบบ่อยในเด็กไทย เรียงจากลำดับแรก 4 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง และโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา/Neuroblas toma (มะเร็งของประสาทซิมพาทีติก)
โรคมะเร็ง คือ โรคซึ่งเกิดมีเซลล์ผิดปกติในร่างกาย และเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ ดังนั้นเซลล์เหล่านี้จึงเจริญลุกลามและแพร่กระจายได้ทั่วร่างกายส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เหล่านั้นล้มเหลวไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด ได้แก่ ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก และไขกระดูก

สัญลักษณ์ของโรคมะเร็ง
ปูเป็นสัญลักษณ์ของโรคมะเร็ง คำว่า มะเร็ง หรือ Cancer มาจากภาษากรีก คือ Carcinos ซึ่งแปลว่า ปู (Crab) เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งมีลักษณะลุกลามออกไปจากตัวก้อนเนื้อเหมือนกับขาปูที่ออกไปจากตัวปู ซึ่งคนแรกที่ใช้ศัพท์นี้ คือ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก

เนื้องอก คือ ก้อน ตุ่ม ที่โตขึ้นผิดปกติ เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกชนิดธรรมดา และเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง
โรคมะเร็ง คือ โรคของเซลล์ ที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติกลายเป็นก้อนมะเร็งซึ่งสามารถบุกรุก ทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงและกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้
โรคมะเร็ง ต่างจากเนื้องอกที่ก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็ง โตเร็วลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าหลอดเลือด/กระแสโลหิต/กระแสเลือด และหลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย โดยมักแพร่สู่ปอด ตับ สมอง กระดูก และไขกระดูก ดังนั้นโรคมะเร็งจึงเป็นโรคเรื้อรัง รุนแรง มีการรักษาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง
โรคเนื้องอก ได้แก่ มีก้อนเนื้อผิดปกติ แต่โตช้า ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เพียงกดหรือเบียดเมื่อก้อนโตขึ้น ไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต และทางกระแสน้ำเหลือง จึงเป็นโรคที่รักษาหายได้โดยเพียงการผ่าตัด
ขบวนการเกิดโรคมะเร็ง
เมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็ง เช่น สารเคมี ไวรัส รังสี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและในที่สุดเซลล์ปกติก็จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ถ้าระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถทำลายเซลล์นั้นได้ เซลล์มะเร็งก็จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นก้อนมะเร็งต่อไป
สาเหตุของโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอยู่หลายประการ ดังนี้
1.       สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย
1.1 สารเคมีบางชนิด เช่น
·       สารเคมีในควันบุหรี่ และเขม่ารถยนต์
·       สารพิษจากเชื้อรา
·       สารพิษที่เกิดจากเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอด จนไหม้เกรียม
·       สีย้อมผ้า
·       สารเคมีบางชนิดที่เกิดจากขบวนการทางอุตสาหกรรม
1.2   รังสีต่างๆ รวมทั้งรังสีอุลตร้าไวโอเลตในแสงแดด
1.3   การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น
·       ไวรัสตับอักเสบ ชนิด บี มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งตับ
·       ฮิวแมน แพพพิโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus หรือ HPV) อาจมีความสัมพันธ์
                                   กับการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์เยื่อบุต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก
·       เอบสไตน์ บาร์ ไวรัส (Epstein Barr Virus) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อม
                                   น้ำเหลืองหรือมะเร็งโพรงหลังจมูก
·       เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรัย (Helicobacter Pylori) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งกระเพาะ
                                   อาหาร
1.4   พยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับ มีความสัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
             2.  สาเหตุภายในร่างกาย เช่น
                     2.1 กรรมพันธ์ที่ผิดปกติ
2.2 ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน
2.3 ภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง
2.4 การระคายเคืองที่เกิดซ้ำๆ เป็นเวลานาน
2.5 ภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็ง

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยที่แตกต่างคือ มักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการต่างๆ นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม อาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ได้แก่
·      มีก้อนเนื้อโตเร็ว หรือ มีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1 – 2 สัปดาห์ หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น
·       มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักจะแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อยๆ
·       ไฝ ปาน หูด ที่โตเร็วผิดปกติ หรือ เป็นแผลแตก
·       หายใจ หรือ มีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
·       เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้)
·       ไอเรื้อรัง หรือ ไอเป็นเลือด
·       มีเสมหะ น้ำลาย หรือ เสลดปนเลือดบ่อย
·       อาเจียนเป็นเลือด
·       ปัสสาวะเป็นเลือด
·       ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
·       อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือเป็นมูกเลือด
·       ท้องผูก สลับท้องสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
·       มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือ มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
·       ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
·       มีไข้ต่ำๆ หาสาเหตุไม่ได้
·       มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้
·       ผอมลงมากใน 6 เดือน น้ำหนักลดลงจากเดิม 10%
·       มีจ้ำห้อเลือดง่าย หรือ มีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
·       ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือ แขน/ขาอ่อนแรง หรือ ชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
·       ปวดหลังเรื้อรัง และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจร่วมกับ แขน/ขาอ่อนแรง
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยมีหลายวิธี เช่น
1.  การตรวจร่างกายด้วยตนเองและโดยแพทย์
2.  การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเสมหะ
3.  การตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
4. การตรวจทางรังสี เช่น การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การเอ็กซเรย์เฉพาะอวัยวะ และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
5. การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษส่องกล้องโดยตรง เช่น การตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหารและลำคอ เป็นต้น
6.  การตรวจพิเศษอื่นๆ
ระยะของมะเร็ง
ระยะโรคมะเร็ง คือ ตัวบอกความรุนแรงของโรค (การลุกลามและแพร่กระจาย) บอกแนวทางการรักษา และแพทย์ใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 – 4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็นอีกเป็น เอ(A) บี (B) หรือ ซี(C) หรือ เป็น หนึ่ง หรือ สอง เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง
·       ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
·       ระยะที่ 2 : ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ
·       ระยะที่ 3 : ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
·       ระยะที่ 4 : ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ/หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/หรือ มีหลากหลายต่อม และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/หรือ หลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
การรักษา
การตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา ซึ่งวิธีการรักษามีดังต่อไปนี้
1.       การผ่าตัด เป็นการเอาก้อนที่เป็นมะเร็งออกไป
2.       รังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
3.       เคมีบำบัด เป็นการให้ยา (สารเคมี) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
4.       ฮอร์โมนบำบัด เป็นการใช้ฮอร์โมน เพื่อยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
5.       การรักษาแบบผสมผสาน เป็นการรักษาร่วมกันหลายวิธีดังกล่าวข้างต้น แต่จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
การรักษาโรคมะเร็งอาจเป็นวิธีใดวิธีเดียว หรือ หลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับ
·       ระยะโรค
·       ชนิดของเซลล์มะเร็ง
·       เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด
·       ผ่าตัดได้หรือไม่ หลังผ่าตัดยังคงหลงเหลือก้อนมะเร็งหรือไม่
·       ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร
·       อายุ
·       สุขภาพผู้ป่วย
โรคมะเร็งเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่ทั้งนี้ โอกาสรักษาหายขึ้นกับ
·       ระยะโรค
·       ชนิดเซลล์มะเร็ง
·       ผ่าตัดได้หรือไม่ ถ้าผ่าตัดได้ สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดหรือไม่
·       มะเร็งเป็นชนิดดื้อต่อ รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ ยารักษาตรงเป้าหรือไม่
·       อายุ
·       สุขภาพผู้ป่วย
อนึ่ง ในภาพรวมโดยประมาณ อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี (โอกาสรักษามะเร็งได้หาย) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง คือ
·       โรคระยะ 0              9095 %
·       โรคระยะที่ 1           7090 %
·       โรคระยะที่ 2           7080 %
·       โรคระยะที่ 3           2060 %
·       โรคระยะที่ 4           015 %
 ทางเลือกอื่น (Alternatives)
เนื่องจากโรคมะเร็งส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่มีมะเร็งบางตำแหน่งก็สามารถทราบสาเหตุนำหรือสาเหตุร่วม ซึ่งอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ทุกคนควรจะต้องตรวจ สำรวจร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าพบอาการผิดปกติก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ การตรวจให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ (มักเป็นมะเร็งในระยะ 0 หรือระยะ 1) ทั้งนี้ เพราะโรคมะเร็งในระยะนี้ มีโอกาสรักษาได้หายสูงกว่าโรคมะเร็งในระยะอื่นๆ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือการตรวจที่เมื่อพบโรคแล้ว ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีอัตรารอดจากมะเร็งสูงขึ้น หรือมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลงนั่นเอง
ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่
       วิธีป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวแล้ว ซึ่งที่สำคัญ คือ
·       กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ
·       ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอ
·       เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง/การตรวจสุขภาพประจำปี
·       หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง
สัญญาณอันตราย 7 ประการ ที่ควรรีบมาพบแพทย์
1.       มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป
1.       มีก้อนหรือตุ่ม เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ
2.       มีแผลเรื้อรัง
1.       มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
2.       เสียงแหบ ไอเรื้อรัง
3.       กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
1.       มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ


                      มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเต้านมเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งและขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย ก่อนจะลุกลามไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่นของร่างกาย มะเร็งชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศชายในอัตราที่น้อยมาก
ภายในเต้านมของผู้หญิงจะประกอบไปด้วยต่อมผลิตน้ำนม ท่อน้ำนม เนื้อเยื่อไขมัน ท่อน้ำเหลือง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน หลอดเลือดต่าง ๆ ซึ่งเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกิดขึ้นบริเวณต่อมผลิตน้ำนม (Lobules) และท่อน้ำนม (Ducts) มากกว่าส่วนอื่น การก่อตัวของมะเร็งเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้กับเซลล์ทุกส่วนภายในเต้านมในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากเซลล์ผิดปกติมีการแบ่งตัวมากขึ้นเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถควบคุมได้ และขยายใหญ่ขึ้นเป็นก้อนเนื้อร้าย ก่อนจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง ระบบน้ำเหลือง และสุดท้ายกระจายไปยังกระแสเลือด และไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

ระยะของมะเร็งเต้านม
ระยะความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้อ การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
·       ระยะ 0-1: พบเซลล์ผิดปกติภายในเนื้อเยื่อเต้านม และก้อนเนื้อมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
แต่ยังจำกัดการเกิดเฉพาะภายในเต้านม ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่พบการลุกลามของโรคไปยังส่วนอื่น
·       ระยะ 2: ก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้น และอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองเฉพาะบริเวณ
รักแร้ แต่จำนวนไม่กี่ต่อม หรืออาจไม่พบก้อนเนื้อ แต่พบเซลล์มะเร็งบริเวณต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้
·       ระยะ 3: เนื้อเยื่อเต้านมถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างถึงชั้นผิวหนังจนเกิดเป็นแผล ก้อนมะเร็ง
มีขนาดโตขึ้นมากกว่า 5 เซนติเมตร ลุกลามไปติดกับกล้ามเนื้อหน้าอก มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้และต่อมน้ำเหลืองอื่นในบริเวณใกล้เคียงเต้านม หรือก้อนเนื้อขยายใหญ่ขึ้นไม่เกิน 5 เซนติเมตร และมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองจำนวนมากขึ้น   
·       ระยะ 4: โรคมีการแพร่กระจายเข้าหลอดเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ
สมอง ปอด กระดูก ซึ่งเป็นระยะที่รักษาไม่หายขาด
สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในผู้หญิงไทยเป็นอันดับต้นๆ และยังพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 13,653 ราย หรือคิดเป็น 29.3 ต่อประชากร 100,000 ราย ซึ่งคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ผู้ป่วยหายขาดได้มากขึ้น

อาการของมะเร็งเต้านม

สำหรับอาการของมะเร็งเต้านมนั้น ในระยะแรกแทบไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อเซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายหรือเจริญเติบโตขึ้นเป็นก้อนเนื้อ ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้จากอาการดังนี้
·       มีก้อนเนื้อในเต้านมหรือก้อนที่รักแร้ ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบ แล้วจึงมาพบแพทย์มากที่สุด  
·       เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดผื่นคันที่รักษาแล้วไม่หายขาด 
·     บริเวณหัวนมบุ๋ม เป็นแผล มีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีคล้ายเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไหลออกจากเต้านมข้างเดียวและจุดเดียว
·     ผิวหนังบริเวณเต้านมมีอาการบวม แดง เป็นผื่นแดง อาจเกิดการลอก ตกสะเก็ด หรือเป็นแผลมีอาการ
             คันบริเวณหน้าอก


การวินิจฉัย มะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรตรวจเดือนละครั้ง ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40-69 ปี และไม่มีอาการ ควรตรวจด้วยตนเองเป็นประจำ รวมไปถึงควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองจำเป็นต้องได้รับการสอนวิธีการตรวจอย่างถูกวิธี และช่วงเวลาที่ควรตรวจจะอยู่ในช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 3-10 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงจนเกินไป สามารถตรวจได้ง่าย 
ตรวจขณะนอนราบ
·       นอนราบในท่าที่สบาย ไม่เกร็ง
·       สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา ยกแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อช่วยให้เต้านมแผ่ราบ 
สามารถตรวจได้ง่าย
·       ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือซ้าย คลำให้ทั่วเต้านมจากด้านนอกมาด้านในและรักแร้
จากนั้นสลับทำกับเต้านมอีกข้างในวิธีเดียวกัน
ข้อควรระวัง: การตรวจด้วยตนเอง ควรทำด้วยความนิ่มนวล ไม่ควรบีบเค้นอย่างรุนแรง 


ตรวจขณะยืนหน้ากระจก
·       ยืนตัวตรงหน้ากระจก ปล่อยแขนข้างแนบลำตัวตามสบาย 
·       ยกแขน 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะหรือผสานมือไว้หลังศีรษะ สังเกตลักษณะของเต้านมเนื่องจากการยก    แขนขึ้นจะช่วยให้มองเห็นความผิดปกติได้ดีขึ้น 
·       เปลี่ยนท่าทางมายืนเท้าสะเอว โน้มตัวข้างหน้าเล็กน้อย สังเกตดูลักษณะของเต้านมอีกครั้ง
·    เริ่มคลำเต้านม เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ โดยยกแขนข้างเดียวกับเต้านมข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำเต้านม ก่อนจะสลับทำกับเต้านมอีกข้าง 

ตรวจในขณะอาบน้ำ
การตรวจในขณะอาบน้ำเป็นอีกวิธีที่ตรวจหาได้ง่าย เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่ผิวหนังเปียกและลื่น จึงช่วยให้ตรวจง่ายขึ้น
·       ใช้ปลายนิ้วมือวางราบบนเต้านม
·       คลำและเคลื่อนนิ้วมือในลักษณะคลึงเบา ๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม เพื่อคลำหาเนื้อที่แข็งเป็นไตหรือก้อนเนื้อในเต้านม

การวินิจฉัยโดยแพทย์
เมื่อพบความผิดปกติของก้อนเนื้อบริเวณเต้านม แพทย์จะตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอนก่อนทำการรักษาขั้นต่อไป ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดในการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะดูอาการและสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจ
การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านม สตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจทุก 1 ปี ซึ่งอาจมีการตรวจร่วมกับแมมโมแกรม เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำและรวดเร็ว  
การเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นเครื่องเอกซเรย์พิเศษเฉพาะสำหรับการตรวจเต้านม เพื่อตรวจเนื้อเยื่อที่ผิดปกติภายในเต้านม ซึ่งเป็นวิธีที่ตรวจได้ละเอียดกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป โดยแนะนำให้มีการตรวจในสตรีอายุ 40 ขึ้นไป หากเป็นสตรีในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้ทุก 1-2 ปี ในการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมจะใช้เครื่องมือกดเต้านมให้แบนราบและทำการถ่ายภาพเต้านมข้างละ 2 ท่า เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ คือ 7-14 วัน หลังหมดประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายลดลง ทำให้เต้านมไม่คัดตึง เจ็บน้อยลง อย่างไรก็ตามผลตรวจแมมโมแกรมอาจเกิดผลลบลวงหรือความผิดพลาดในการตรวจขึ้นได้ จึงทำให้แพทย์จำเป็นต้องมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ควบคู่ด้วย
ผลการตรวจแมมโมแกรมตามเกณฑ์ของสมาคมรังสีแพทย์อเมริกันจะใช้หลักที่เรียกว่า BI-RADS (Breast Imaging Reporting and data system) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น Category 0 - 6
·       Category 0 : ไม่สามารถรายงานผลตรวจได้แน่นอน ต้องมีการตรวจแบบอื่นเพิ่มเติมหรือเปรียบเทียบกับการตรวจแมมโมแกรมครั้งก่อน
·       Category 1 : ไม่พบความผิดปกติใด แต่มาตรวจแมมโมแกรมซ้ำในอีก 1 ปีถัดไป
·       Category 2 : ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ใช่มะเร็ง แต่มาตรวจแมมโมแกรมซ้ำในอีก 1 ถัดไป
·       Category 3 : ตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะไม่ใช่มะเร็ง (โอกาสความเป็นไปได้ไม่เกิน 2%) จึงควรมีการตรวจแมมโมแกรมอีกครั้งใน 6 เดือนถัดมา เพื่อติดตามผล
·       Category 4 : พบสิ่งผิดปกติ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสิ่งที่ตรวจพบเป็นมะเร็งหรือไม่จำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อหรือ ผ่าตัดชิ้นเนื้ออีกครั้ง
·       Category 5 : พบสิ่งความผิดปกติที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าหรือเท่ากับ 95% จำเป็นต้องทำการเจาะชิ้นเนื้ออย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
·       Category 6 : ได้รับการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาแล้วว่าเป็นมะเร็งเต้านม
อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เพื่อสร้างเป็นภาพจากการสะท้อนของคลื่นเสียงที่กระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งสามารถตรวจแยกความแตกต่างก้อนเนื้อที่พบว่ามีลักษณะเป็นก้อนน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อได้ จึงง่ายต่อการรักษามากขึ้น 

การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI) เป็นการตรวจโดยใช้หลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกายที่ตรวจ แพทย์อาจจะแนะนำให้มีการตรวจวิธีนี้ร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าพบความผิดปกติของยีนส์ (BRCA gene mutation) สำหรับสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติการได้รับการฉายรังสีในปริมาณสูงบริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุยังน้อย
การเจาะชิ้นเนื้อ (Biopsy) ด้วยการใช้เข็มเจาะก้อนเพื่อดูดเซลล์ หรือตัดชิ้นเนื้อจากก้อนออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจสอบลักษณะของก้อนเนื้อ ระยะของเซลล์มะเร็ง และยังสามารถตรวจหาตัวรับฮอร์โมนในเนื้อเยื่อมะเร็ง ซึ่งอาจใช้เป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคด้วยการใช้ฮอร์โมนได้

ภาวะแทรกซ้อนของ มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายกรณี 
ภาวะบวมน้ำเหลือง สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม เนื่องจากท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดเกิดความเสียหาย อาจเกิดการอุดตันหรือถูกทำลาย โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ทำให้เกิดการบวมของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายจากน้ำเหลืองที่เกิดการคั่งสะสมบริเวณนั้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะพบภาวะบวมน้ำเหลืองบริเวณแขนได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้างเดียวกับที่มีก้อนมะเร็งภายในเต้านม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแขนบวม ปวด ขยับแขนและมือได้ไม่สะดวก
ภาวะเหนื่อยง่าย เป็นอาการเรื้อรังที่เกิดได้ทุกวัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ผู้ป่วยจะรู้สึกเมื่อยล้า เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น อย่างไม่มีสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นผลจากเซลล์มะเร็งเองหรือผลข้างเคียงของการรักษาที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ รับประทานอาหารได้น้อยลง ไม่มีเรี่ยวแรง หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย นอนไม่หลับ ปัญหารบกวนทางด้านจิตใจและอารมณ์ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจพบผลข้างเคียงหลังการรักษาในหลายด้าน เช่น แผลติดเชื้อหลังการผ่าตัด ภาวะเลือดออก อาการปวดกระดูกจากการแพร่กระจายมะเร็งไปยังกระดูก ผลกระทบกระเทือนด้านจิตใจและอารมณ์ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ฯลฯ ซึ่งอาการจะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ผู้ป่วยในระยะลุกลามอาจเกิดโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะอื่นในร่างกาย เนื่องจากการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งในกระแสเลือดสู่อวัยวะภายในร่างกาย เช่น มะเร็งกระดูก มะเร็งปอด มะเร็งตับ เป็นต้น

การติดตามผลหลังการรักษามะเร็งเต้านม
หลังการรักษามะเร็งเต้านมหายขาด ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวังในบางเรื่อง เช่น การรับประทานอาหาร การดูสุขภาพร่างกาย และหมั่นควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์จะมีการติดตามผลของผู้ป่วยเป็นระยะและมีการตรวจทางการแพทย์อื่น ๆ เพิ่มเติมในบางกรณี เพื่อป้องกันการกลับมาของโรค เช่น 
·       ตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ซ้ำหลังการรักษาทุก ๆ 6 เดือน-1 ปี
·     ตรวจภายใน (Pelvic Exams) ทุกปี สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีทางด้านฮอร์โมนที่ใช้ยาในการยับยั้งการเติบโตของมะเร็ง เช่น ยาทามอกซิเฟน (Tamoxifen) หรือ ยาโทเรมิฟีน (Toremifene) เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาที่ก่อให้เกิดมะเร็งมดลูกได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
·       ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Density Tests) สำหรับผู้ป่วยที่รักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีทางด้านฮอร์โมนด้วยการใช้ยาในกลุ่ม อะโรมาเตส อินฮิบิเตอร์ (Aromatase Inhibitors) เช่น ยาแอนแอสโทรโซล (Anastrozole) ยาเลโทรโซล (Letrozole) ยาเอ็กซ์เซอร์เมส เทน (Exemestane) 
นอกจากปัญหาทางด้านร่างกาย ผู้ป่วยต้องเผชิญกับภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งความวิตกกังวล ความกดดัน ความกลัว ความเครียด อาการซึมเศร้าหลังการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ผ่านมา ดังนั้นครอบครัวและคนใกล้ชิดควรเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยเอง หมั่นพูดคุย ให้กำลังใจ หรือส่งเสริมการทำกิจกรรมที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการกลับมาใช้ชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีศูนย์ต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น

การป้องกันมะเร็งเต้านม
เนื่องจากสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่เป็นที่แน่ชัด ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
·       หมั่นตรวจเต้านมของตนเองเป็นประจำทุกเดือน และควรทำตั้งแต่อายุตั้งแต่ 20 ปีเป็นต้นไป
·       เข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือพยาบาลเป็นครั้งคราว เริ่มเมื่ออายุ 40 ปี โดยตรวจทุก 1 ปี
·       ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านม ประมาณปีละ 1 ครั้ง 
·       ปรับพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น 
Ø จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดีต่อวัน เนื่องจากผลวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อมะเร็งเต้านมพบว่า แอลกอฮอล์ที่มากเกินไปอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านม
Ø หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ สามารถช่วยลดความเสี่ยงการพัฒนาของโรค
Ø ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
Øผู้ที่มีบุตร ควรให้นมบุตรด้วยตนเอง เนื่องจากระยะเวลาการให้บุตรที่นานขึ้นจะช่วยลดโอกาสการได้รับฮอร์โมนเช่นกัน
Ø  ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเสริม เช่น ผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนหมดหรือการผ่าตัดตัดไข่ออกก่อนเวลาอันควรควรระวังในเรื่องการได้รับฮอร์โมนติดต่อกันเป็นเวลานานหรือปริมาณฮอร์โมนที่สูงติดต่อกัน ควรปรึกษาแพทย์เป็นระยะเนื่องจากมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมจากการใช้ฮอร์โมน

พยาธิสรีรภาพของโรค
มะเร็งเต้านมมักเกิดที่เนื้อเยื่อของท่อต่อมน้ำนม ที่พบมากจะเป็นชนิด Adenocarcinoma หากก้อนมะเร็งที่เต้านมมีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งจะมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด  มักพบก้อนมะเร็งบริเวณด้านบนส่วนนอก (Upper outer quadrant) ซึ่งมักจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หากเป็นบริเวณด้านในของเต้านมแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในทรวงอก ปอด กระดูก ตับ
นอกจากนี้อาจพบบริเวณใต้หัวนมและรอบหัวนม พบที่เต้านมด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา เมื่อมีการแพร่กระจายไปที่อื่นจะทำให้การพยากรณ์โรคไม่ดี หากพบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองมากพยากรณ์โรคจะเลวลง

การรักษา
รักษาโดยการตัดเฉพาะก้อนออกและตามด้วยการฉายรังสีเฉพาะที่บริเวณเต้านมส่วนที่เหลือและรักแร้ ตัดเนื้อบริเวณที่มีก้อนโดยเฉพาะเนื้อเยื่อใกล้เคียงออกและฉายรังสีร่วมด้วย
หากก้อนมีขนาดใหญ่และมีการลุกลามอาจต้องตัดเต้านม ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และกล้ามเนื้อ Pectoris major เรียกว่า Modified radical mastectomy
หากตัดกล้ามเนื้อ Pectoris minor เรียก Radical mastectomy หากตรวจพบก้อนที่เต้านมตั้งแต่มีขนาดเล็ก อาจตัดเฉพาะก้อนและเนื้อเยื่อข้างเคียงออกบ้างโดยที่เต้านม ยังคงรูปเดิม (Lumpectomy) โดยต้องฉายรังสีตาม หรือ ตัดแต่เพียงเต้านมข้างนั้นนอก (Total หรือ Simple mastectomy)
บางรายอาจให้ยาต้านเอสโตรเจน และตัดรังไข่ ต่อมหมวกไต รวมทั้งต่อมใต้สมอง บางรายอาจให้ยาเคมีบำบัดเป็นยาต้านเซลล์มะเร็งหรืออาจให้รังสีรักษาร่วมด้วย

การพยาบาล
ดูแลความสะอาดของผิวหนังบริเวรเต้านมด้วยการล้างน้ำสบู่ ซับเบาๆ ให้แห้ง หากมีอาการปวดให้ยาแก้ปวด แนะนำผู้ป่วยไม่ให้แตะต้องผิวหนังบริเวณเต้านมบ่อยๆ และดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมโดยดูแลก่อนผ่าตัด ดูแลความสะอาดบริเวณผิวหนัง บริเวณหน้าอกและรักแร้ อาจโกนขนด้วยหากมีขนมาก ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารแขนหลังผ่าตัด
การตรวจเต้านมด้วยตนเองหลังผ่าตัด สังเกตและบันทึกสัญญาณชีพ ความปวด ลักษณะแผล สี ปริมาณสิ่งขับหลั่งและเลือดจากแผลผ่าตัด จัดท่าให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สุขสบาย กระตุ้นให้ใช้แขนข้างที่ทำผ่าตัด เช่น หวีผม เป็นต้น ทำแผล ให้ยาแก้ปวด สังเกตความผิดปกติของแผล ดูแลท่อระบายทรวงอกให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในรายที่ได้รับรังสีรักษา ดูแลการจัดท่าขณะฉายรังสีและติดตามดูความผิดปกติของผิวหนังที่ได้รับรังสี
ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด โดยฉีดยาช้าๆ ระวังการรั่วของยาออกจากหลอดเลือดดำ สังเกตและแก้ไขอาการข้างเคียงของยา ให้การพยาบาลเพื่อลดความวิตกกังวล และเกี่ยวกับการสูญเสียภาพลักษณ์ โดยแนะนำแหล่งบริการการทำผ่าตัดเสริมเต้านม การใช้อุปกรณ์เสริม เช่น เสื้อยกทรงที่มีเต้านมเทียม วิกผมหากมีผมร่วง เป็นต้น และฟื้นฟูสมรรถภาพโดยใช้แขนข้างที่ทำผ่าตัดในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น หวีผม ติดกระดุมเสื้อ รับประทานอาหาร แปรงฟัน เป็นต้น
หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง งดการใช้แขนข้างที่ผ่าตัดยกของหนัก งดวัดความดันเลือด ควรยกแขนข้างที่ทำผ่าตัดให้สูงอยู่เสมอใส่เสื้อยกทรงเสริมหรือใส่เต้านมเทียม หลังจากแผลผ่าตัดหายดีแล้วประมาณ 6-10 สัปดาห์ แนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนลดความสุขไม่สบาย ความวิตกกังวล ความเศร้าเสียใจ ป้องกันความพิการของแขนและการติดเชื้อ

อ้างอิงจาก

https://www.bangkokhospital.com/wattanosoth/web/th/site/all_about_cancer/view/28
https://www.bangkokhospital.com/wattanosoth/web/th/site/all_about_cancer/view/58
https://www.honestdocs.com/what-is-breast-cancer/ca-breast
https://www.pobpad.com/มะเร็งเต้านม